วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2553

นักวิชาการเข้าร่วมประชุมวิชาการนานาชาติแนวปะการังลงพื้นที่เกาะราชา ภูเก็ต-เกาะพีพี กระบี่ สำรวจสถานการณ์แนวปะการังฟอกขาว


วันที่ 24 มิ.ย.53 ผศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน ประธานกรรมการดำเนินงานโครงการจัดการประชุมวิชาการนานาชาติแนวปะการังในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-24 มิ.ย.53 ที่โรงแรมรอยัลภูเก็ตซิตี้ อ.เมือง จ.ภูเก็ต กล่าวถึงผลการลงดำน้ำสำรวจแนวปะการังบริเวณเกาะราชา จ.ภูเก็ต และเกาะพีพี จ.กระบี่ ของนักวิชาการและนักวิทยาศาสตรที่เข้าร่วมประชุมวิชาการนานาชาติแนวปะการังในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 2 (The 2nd Asia Pacific Coral Reef Symposium:2nd APCRS 2010) ภายใต้หัวข้อ “Collaboration for Coral Reef Conservation in a Changing Climate” ซึ่งมหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ระดมความคิดเห็น และสร้างเครือข่ายของนักวิทยาศาสตร์ด้านแนวปะการัง ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเพื่อการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพในการลดภาวะคุกคามแนวปะการัง

ตลอดจนการรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกต่อระบบนิเวศแนวปะการังว่า จากการดำน้ำสำรวจแนวปะการังทั้ง 2 แห่งพบว่า เกิดปรากฏการณ์ฟอกขาวเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์การฟอกขาวสูง โดยการฟอกขาวของปะการังนั้นแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดของปะการังในแต่ละจุด รวมทั้งขึ้นอยู่กับระดับความลึกของระดับน้ำ ซึ่งหลังจากที่นักวิชาการลงพื้นที่แล้วก็ได้มีการเก็บข้อมูลขึ้นมาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญในการฟื้นฟูแนวปะการังหลังเกิดการฟอกขาว อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นเชื่อว่าปะการังที่ฟอกขาวบางส่วนจะฟื้นกลับมาได้

โดยหลังจากนี้ประมาณ 2-3 เดือนจะต้องเป็นหน้าที่ของนักวิชาการคนไทยที่จะต้องลงไปเก็บข้อมูลรายละเอียดต่างๆเกี่ยวกับการเกิดปรากฏการฟอกขาวของปะการังทั้งหมด รวมถึงพื้นที่ที่ปะการังไม่ได้รับความเสียหายเพื่อนำมาศึกษาวิจัยเพื่อหาทางรอดและช่วยฟื้นแนวปะการังให้กลับมาสมบูรณ์เหมือนเดิม รวมทั้งเพื่อให้แนวปะการังที่ไม่ได้รับความเสียหายเป็นแหล่งขยายพันธ์

ผศ.ดร.ธรรมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ความร่วมมือทางด้านวิชาการที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับการรักษาแนวปะการังในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งการฟื้นแนวปะการังนั้นจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งเรื่องของเครื่องมือ ผลงานการวิจัย เพราะบางครั้งเรื่องบ้างเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นที่บ้านเราแต่ในพื้นที่อื่นได้มีการดำเนินการหรือศึกษาวิจัยไว้แล้ว ซึ่งการประชุมครั้งนี้ได้มีการหยิบยกประสบการมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมาก

ข้อมูลจาก..ผู้จ้ดการ ออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นทั่วไป