นางธันยรัศม์ กล่าวว่า ทางเทศบาลนครภูเก็ตให้ความสำคัญในการพัฒนาถนนย่านเมืองเก่าให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและวิถีชีวิต ซึ่งทางคณะกรรมาธิการได้เชิญนายกเทศมนตรีนครภูเก็ตเป็นคณะอนุกรรมการด้านการท่องเที่ยวของคณะกรรมาธิการ เพื่อที่จะทางคณะกรรมาธิการจะเข้ามาเสริมและการผลักดันการพัฒนาถนนย่านเมืองเก่าได้อย่างไรบ้าง และเสนอผลักดันของบประมาณมาดำเนินการต่อไป
ในฐานะที่ตนเป็นคนภูเก็ต อยากที่จะให้มีการพัฒนาถนนย่านเมืองเก่าเป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อที่จะดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาในตัวเมืองภูเก็ตมากขึ้น และเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในตัวเมืองภูเก็ตอีกด้วย เพราะนักท่องเที่ยวที่เข้ามาภูเก็ตปีละ 6 ล้านคน มีจำนวนน้อยมากที่จะเข้ามาท่องเที่ยว และจับจ่ายในเขตเมือง นักท่องเที่ยวเกือบทั้งหมดจะท่องเที่ยวและจับจ่ายอยู่ตามชายหาดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม ในการที่จะพัฒนาเมืองเก่าเป็นแหล่งท่องเที่ยว สิ่งสำคัญก็คือ จะต้องฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ย่านเมืองเก่าก่อนว่าเห็นด้วยหรือไม่และต้องการที่จะพัฒนาย่านเมืองเก่าไปในทิศทางใด อย่างกรณีของประเทศสิงคโปร์ที่มีการพัฒนาตึกๆ เก่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวและชอปปิ้งของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งภูเก็ตก็สามารถทำได้เพราะเรามีย่านเมืองเก่าๆที่เป็นสถาปัตยกรรมชิโนโปตุกีสที่สวยงามในถนนสายต่างๆ ในย่านเมืองเก่าอยู่แล้ว
ขณะที่ นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศนตรีนครภูเก็ต กล่าวว่า ที่ผ่านมา เทศบาลนครภูเก็ตให้ความสำคัญกับการพัฒนาย่านเมืองเก่ามาก ได้มีการศึกษาข้อมูลเชิงสถาปัตยกรรมชิโนโปตุกีส ให้ความรู้กับประชาชนย่านเมืองเก่าในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง มีการอบรมไกด์นำเที่ยว และล่าสุดได้มีการนำสายไฟฟ้าลงดิน และทาง ร.ท.ภูมิศักดิ์ หงษ์หยก ได้นำเสนอการพัฒนาย่านเมืองเก่าไปยังคณะกรรมาธิการท่องเที่ยว วุฒิสภา เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาเมืองเก่า ที่เป็นการต่อยอดการพัฒนาย่านเมืองเก่าที่ผ่านมาให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยเริ่มจากถนนถลางและซอยรมณีย์เป็นพื้นที่นำร่อง
โดยเทศบาลได้ให้ทางบริษัทเอกชนเข้ามาออกแบบการพัฒนาเมืองเก่า เพื่อกำหนดรูปแบบในการปรับปรุงทั้งในเรื่องทางเท้า หงอคากี่ ป้ายหน้าบ้านที่เป็นการบอกกล่าวเรื่องราวของบ้านแตะหลังที่ให้นักท่องเที่ยวสามารถที่จะศึกษาได้ด้วยตัวเอง มีการปรับปรุงสวนสาธารณะ 72 พรรษา มหาราชินี การดาษท้องคลองบางใหญ่ ปรับปรุงธนาคารซาร์เตอร์แบงก์ เป็นต้น
“ขณะนี้การออกแบบในรายละเอียดแล้วเสร็จภายใต้คอนเซปต์ที่ยึดความเป็นตัวตนและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนและมีชุมชนเป็นเจ้าของ ซึ่งจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวันที่ 30 ก.ค.2553 นี้” นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวในที่สุด
ขอบคุณ...ผู้จัดการ ออนไลน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็นทั่วไป