--
วันที่ 23 ก.ค.53 ที่โรงแรมฮิลตัน ภูเก็ต อาเคเดีย รีสอร์ท แอนด์ สปา จ.ภูเก็ต นายตรี อัครเดชา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการสัมมนาเรื่อง “phuket Creative Tourism Forum I” ซึ่งสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตจัดขึ้น เพื่อที่จะนำเสนอมุมมองทางการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ให้กับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวในภูเก็ต ได้รับทราบจากวิทยากรที่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงจากหลากหลายอาชีพ โดยมีผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวในภูเก็ตเข้าร่วม
นายสมบูรณ์ จิรายุส นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงขึ้น-ลงอย่างรวดเร็วจากวิกฤตการณ์ทต่างๆที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของภูเก็ตไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ โรคระบาด ภาวะเศรษฐกิจ และการเมือง จำเป็นที่การท่องเที่ยวของภูเก็ตจะต้องมีภูมิคุ้มกัน เพื่อรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ที่จะต้องร่วมมือกันสร้างภูมิคุ้มกันให้กับการท่องเที่ยวภูเก็ต ด้วยการนำเสนอรูปแบบการท่องเที่ยวในเชิงสร้างสรรค์ในจุดขายที่ภูเก็ตมีอยู่ทั้งในเรื่องของวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต ฯลฯ เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางการท่องเที่ยวของภูเก็ตอีกรูปแบบหนึ่ง
ด้านนายพัฒนพงษ์ เอกวานิช อดีตนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวภูเก็ต และกรรมการผู้จัดการ โรงแรมไดมอนด์คลิฟ หาดป่าตอง กล่าวว่า หากเปรียบเทียบการท่องเที่ยวของภูเก็ตระหว่างอดีตกับปัจจุบันจะเห็นว่าภูเก็ตมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ในการรองรับการท่องเที่ยวมากขึ้น และในโรงแรมที่เกิดขึ้นใหม่ๆเป็นโรงแรมที่สวย และมีความพร้อมในทุกด้าน
ขณะที่ การลงทุนโรงแรมในขณะนี้จะต้องใช้เงินลงทุนสูงกว่าเมื่อก่อนมาก เมื่อก่อนการลงทุนโรงแรม 3-5 ปี สามารถที่จะคืนทุนได้แล้ว แต่การลงทุนขณะนี้จะต้องใช้เวลาในการคืนทุนที่ยาวออกไป เนื่องจากขายได้ลดลง จากปริมาณห้องพักที่มีจนเกินความต้องการจากธรรมชาติที่มีความสวยงามลดลง
ทำให้ต้องขายห้องพักในราคาที่ถูกลง มีการตัดราคาขายกันเอง เช่น ช่วงไฮซีซันขายห้องพักคืนละ 12,000 บาท แต่เมื่อถึงโลว์ซีซัน ขายห้องพักลดลงเหลือคืนละ 1,000 กว่าบาทเท่านั้น ด้วยการลดคุณภาพของการให้บริการลง ซึ่งจะทำให้การท่องเที่ยวของภูเก็ตตกต่ำลงเรื่อยๆ ปัญหาทั้งหมดเกิดจากไม่สามารถที่จะควบคุมจำนวนห้องพักได้ มีการเข้ามาลงทุนจนเกินความต้องการที่แท้จริง
ส่วนอีกปัญหาหนึ่งที่เห็นว่าภูเก็ตน่าที่จะต้องเร่งแก้ไขให้ดีขึ้น คือ การบุกรุกชายหาดทำให้ชายหาดที่เคยสวยงามกลายเป็นชายหาดที่รกรุงรัง หลังเกิดสึนามิหวังว่าจะสามารถแก้ปัญหาการบุกรุกชายหาดได้จากที่สึนามิได้ซัดสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ออกไป แต่การบุกรุกก็กลับมาใหม่อีกทำให้ชายหาดบางหาดอยู่ในสภาพเดิมที่สกปรกรกรุงรัง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมากในการแก้ไข
ส่วนตัวแล้วมองว่าการแก้ปัญหาต่างๆ ของภูเก็ต ที่ต้องใช้กฎหมายในการดำเนินการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับประเทศและท้องถิ่น ควรที่จะเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวด และพยายามที่จะไม่ให้เกิดความแตกแยกทางการเมืองในภูเก็ต
ขณะที่นายสมชาย ศิลปานนท์ นายกสมาคมโรงแรมหาดกะตะ-กะรน กล่าวว่า ภูเก็ตเปลี่ยนแปลงไปมากทั้งทางกายภาพและทางเศรษฐกิจ หลังเกิดสึนามิจะเห็นว่ามีโรงแรมเหมือนเป็นไปในทางที่ดีขึ้น แต่โดยภาพรวมแล้วความสวยงามลดลงจากที่ภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลที่สวยงาม และเห็นว่าความสวยงามได้ลดลง ทำให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาภูเก็ตคุณภาพลดลงตามไปด้วย และโรงแรมที่เกิดขึ้นก็มีเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็เป็นเรื่องยากที่จะมีการควบคุมไม่ได้โรงแรมใหม่เกิดขึ้น แม้ว่าขณะนี้ห้องพักในภูเก็ตจะมีจนเกินความต้องการแล้วก็ตาม
ดังนั้น จะต้องมีการวางเงื่อนไขสำหรับการลงทุนโรงแรมใหม่ โดยให้คำนึงถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น กันพื้นที่สีเขียวให้เพิ่มขึ้น เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นจุดขายหลักของการท่องเที่ยวภูเก็ต
ด้านนายเมธี ตันมานะตระกูล อดีตนายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ กล่าวว่า หากย้อนกลับไปมองถึงการเติบโตของภูเก็ตเมื่อ 20 ปีที่แล้ว จะเห็นว่าภูเก็ตมีการเติบโตที่ก้าวกระโดดมาก มีโรงแรมเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เมื่อย้อนไปเมื่อ 12 ปีก่อนภูเก็ตมีช่วงไฮชีชั่นและมีช่วงพีทชีชั่น ขณะนี้ไม่มีโรงแรมใดที่มีช่วงพีคซีซัน มีแต่ช่วงไฮซีซันเท่านั้น ราคาห้องพักก็ไม่ได้ขยับเพิ่มสูงขึ้นนานแล้วถ้าขยับก็ขยับน้อยมากแถมยังมีการลดแลกแจกแถมอีกด้วย ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดจากการไม่สามารถควบคุมการเกิดขึ้นของโรงแรมได้ ควรที่จะมีกฎหมายที่ออกมาควบคุมให้การเกิดขึ้นของห้องพักสอดคล้องกับสภาพความต้องการที่แท้จริง
ปัญหาดังกล่าวสามารถทำได้ อย่างเช่น สิงคโปร์ และฮ่องกง ที่ดำเนินการเรื่องนี้มาเป็น 10 ปีแล้วหลังจากที่เจอปัญหาห้องพักเกินความต้องการเหมือนภูเก็ต แต่ขณะนี้อัตราเข้าพักเฉลี่ยทั้งปีโรงแรมในสิงคโปร์และฮ่องกงอยู่ที่ 90-95% แถมราคาห้องพักสูงคืนละเป็นหมื่น มีวิธีเดียวที่จะทำให้อัตราเข้าพักโรงแรมในภูเก็ตสูงขึ้นคือควบคุมการเติบโตของห้องพัก ซึ่งเรื่องนี้อยากจะฝากทางภาคการเมืองนำเสนอปัญหาดังกล่าวกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาด้วย
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวถึงรูปแบบการพัฒนาท่องเที่ยวภูเก็ตแบบยั่งยืนว่า ภูเก็ตจะต้องวางเป้าหมายและกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวที่ชัดเจนว่าจะเดินไปในทิศทางใดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ เช่น การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่ การพัมนาสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่เน้นความเป็นเอกลักษณ์ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่ควบคู่กับการท่องเที่ยวที่เป็นชายหาด น้ำทะเล ซึ่งภูเก็ตมีจุดขายอยู่แล้ว เพียงแต่จะทำอย่างไรที่จะหยิบจุดขายนั้นมาเพิ่มมูลค่าและพัฒนาในรูปแบบสร้างสรรค์ ที่รู้สึกได้ถึงความเป็นภูเก็ตที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวชายทะเล เหมือนกับบาหลีที่สามารถคงความเป็นบาหลีไว้เป็นจุดขายทางการท่องเที่ยวได้อย่างยาวนาน
ขอบคุณ...ผู้จัดการ ออนไลน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็นทั่วไป