วันพุธที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2556

นิด้า จัดเสวนา “ท่องเที่ยวภูเก็ต..สู่ความยั่งยืน..ทำอย่างไร”



                เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 17 ก.ย.56 ที่โรงแรมรอยัลภูเก็ตซิตี้ จังหวัดภูเก็ต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) จัดเสวนาหัวข้อ ท่องเที่ยวภูเก็ต..สู่ความยั่งยืน..ทำอย่างไร”         โดยมี ดร.รักษ์พงศ์ วงศาโรจน์ จากนิด้า เป็นผู้ดำเนินการ ได้รับเกียรติจาก ดร.สมหมาย ปรีชาศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการสัมมนา ร่วมด้วย นายวิจิตร ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาอาวุโสสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นายภราเดช พยัฆวิเชียร อดีตสมาชิกวุฒสภาและอดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นายชวาธิป จินดาวิจักษณ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายบริการด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ นายทรงสิทธิ์ บุญผล ประธานเครือข่ายการท่องเที่ยวชุมชนจังหวัดภูเก็ต ร่วมเป็นวิทยากรเสวนาในหัวข้อดังกล่าว และร่วมด้วยเครือข่ายท่องเที่ยวชุมชนฯ ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรม มัคคุเทศก์ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้สนใจทั่วไป กว่า 200 คน


                ทั้งนี้การจัดเสวนาดังกล่าว สืบเนื่องคณะการจัดการท่องเที่ยว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และคณะบริการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ได้รับมอบหมายจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ดำเนินการวิจัยภายใต้แผนการวิจัย กลยุทธ์ขับเคลื่อนคลัสเตอร์การท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน : กรณีศึกษาจังหวัดภูเก็ตโดยมีอาจารย์ ดร.รักษ์พงศ์ วงศ์โรจน์ เป็นผู้อำนวยการแผนการวิจัย


                สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการวิจัยดังกล่าว ซึ่งเนื้อหาหลักของสัมมนาเกี่ยวข้องกับการเผยแพร่การวิจัยและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตในด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตได้เป็นอย่างดี


                ดร.สมหมาย ปรีชาศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยและจังหวัดภูเก็ตสูงมากในหลายมิติ เช่นเป็นภาคเศรษฐกิจที่นำรายได้เข้าประเทศ เป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญในภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเป็นภาคเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการ ขนาดกลางและย่อม เป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญที่สร้างอุปสงค์เชื่อมโยงไปยังอุตสาหกรรมสนับสนุนต่างๆ เป็นกลไกส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาของท้องถิ่นเป็นอย่างมาก เป็นต้น ซึ่งแนวโน้มการขยายตัวของอุปสงค์การท่องเที่ยวโดยรวมและในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ย่อมเป็นผลบวกต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดภูเก็ตและประเทศไทย
                กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวสูงมาก โดยภูเก็ตเป็นจังหวัดที่สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว เป็นลำดับที่สองของประเทศรองจากกรุงเทพฯ โดยในปี 2555 สามารถทำรายได้ให้กับประเทศจำนวน 248,000 ล้านบาท และเป็นจังหวัดที่มีระดับรายจ่ายต่อหัวนักท่องเที่ยวสูงที่สุดในประเทศไทย ยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศจึงได้วางตำแหน่งให้ภูเก็ตและกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก
                ดร.สมหมาย กล่าวอีกว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาการพัฒนาของจังหวัดภูเก็ตได้เปลี่ยนผ่านจากการพึ่งพิงอุตสาหกรรมเหมืองแร่สู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ การเติบโตของปริมาณนักท่องเที่ยวในอัตราที่สูงมาก บนฐานทรัพยากรทางธรรมชาติและทรัพยากรสาธารณูปโภคอื่นๆ ที่มีจำกัด  การขยายตัวของปริมาณนักท่องเที่ยวในอัตราที่สูงอย่างต่อเนื่อง เป็นโอกาสทางธุรกิจที่ดึงดูดให้เกิดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการมากขึ้นจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติตามกระแสโลกาวิวัฒน์ ซึ่งการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนับเป็นสิ่งท้าทายต่อการจัดการการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตเป็นอย่างมาก
                คณะผู้บริหารส่วนราชการจังหวัดภูเก็ต มีนโยบายในการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต เพื่อพัฒนาภูเก็ตสู่เมืองท่องเที่ยวคุณภาพระดับโลก โดยมุ่งเน้นในการพัฒนาของอุตสาหกรรมเป็นไปตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมีความสมดุลของการพัฒนาทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ชุมชนและสังคมต่างได้รับประโยชน์จากการพัฒนาดังกล่าวอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ตามวิสัยทัศน์ของจังหวัดภูเก็ต ภูเก็ตเมืองท่องเที่ยวนานาชาติ บนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน
                แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ตอบสนองต่อความต้องการของทั้งนักท่องเที่ยวและผู้อยู่อาศัยในพื้นที่นั้น โดยมีการป้องกันผลกระทบทางลบพร้อมกับการรักษาและเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของพื้นที่นั้นในอนาคตด้วย ซึ่งแนวทางการพัฒนาข้างต้นจำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจบริการท่องเที่ยวต่างๆ  หน่วยงานภาครัฐทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น และชุมชน ดังนั้นการขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจึงต้องเริ่มด้วยการสร้างความตระหนัก ความรู้ความเข้าใจ และบ่มเพาะขีดความสามารถในการขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้กับภาคส่วนต่างๆ ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
                อย่างไรก็ตามการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เป็นเป้าหมายที่เราทุกคนมีอยู่ร่วมกันและจะร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวด้วยกัน ดร.สมหมาย กล่าวในที่สุด

รายงานโดย...ชำนาญ ณ อันดามัน / นสพ.พลังชน ศูนย์ข่าวภาคใต้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นทั่วไป